วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

5.วิธีเลิกยาเสพติด

วิธีเลิกยาเสพติด วิธีการจัดการกับอาการอยากยา พยายามควบคุมจิตใจตนเอง ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการอยากยา และต้องหลบเลี่ยงให้ได้ด้วยความอดทน หากเริ่มมีอาการอยากยา ให้หยุดคิดทันที แล้วใช้การจินตนาการ นึกถึงเรื่องดี ๆ ที่ทำให้คุณมีความสุขแทนที่จะคิดถึงการใช้ยา เปลี่ยนสภาพแวดล้อม หรือหันไปหางานอดิเรกอื่น ๆ ทำ เพื่อจะได้ใช้สมาธิกับงานนั้น จะได้ไม่คิดถึงยาอีก เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ฟังเพลง เล่นดนตรี ดูโทรทัศน์ ฯลฯ คล้องหนังยางไว้ที่แขน หากคิดถึงยาให้ดีดหนังยางแรง ๆ และบอกตัวเองว่า "ไม่" เพื่อจะได้เตือนตัวเอง และหยุดความคิดนั้น สวดมนต์ หรือนั่งสมาธิ ให้จิตสงบ เพ่งสมาธิไปที่ลมหายใจเข้า-ออกของตัวเอง โทรศัพท์หาคนที่ให้คำปรึกษาได้ คนที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ ให้กำลังใจเราได้ ฝึกให้ตัวเองผ่อนคลาย ด้วยการสูดหายใจเข้าลึก ๆ ให้เต็มปอด จากนั้น หายใจออกช้า ๆ จนรู้สึกผ่อนคลาย เมื่อเราไม่คิดถึงยาเสพติดได้แล้ว ก็จะช่วยให้สามารถเลิกยาได้ง่ายขึ้น แต่ถึงกระนั้น กว่าจะผ่านด่านนี้ หลายคนก็ต้องเผชิญอาการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากถอนยา ซึงในคนที่เพิ่งเสพยาใหม่ ๆ ก็อาจจะมีแค่อาการนอนหลับยาก กินเก่ง ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งผู้เสพสามารถเลิกไปได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาอะไร แต่หากเสพยามานานหน่อย ก็อาจมีอาการอ่อนเพลียมาก ไม่มีแรง กระวนกระวาย กระสับกระสาย ปวดศีรษะ เหงื่อแตก และยิ่งในคนที่ติดยามานานมาก ๆ แล้ว อาจเกิดอาการทุรนทุราย เอะอะอาละวาด ทำร้ายผู้ที่อยู่ใกล้เคียง หรือบางคนมีอาการตรงข้าม คือกลายเป็นคนซึมเศร้า จนถึงฆ่าตัวตายได้เลย ซึ่งผู้ที่เลิกยาควรจะต้องมีคนคอยดูแลใกล้ชิด แต่หากผ่านไปได้ ก็จะมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น กระทั่งเลิกยาได้ระยะหนึ่งจึงจะปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม หากรายที่ใช้ยาเสพติดมานาน โดยเฉพาะแอมเฟตามีน หรือยาบ้า จนมีอาการหนัก และมีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนเรื้อรัง ก็จำเป็นเข้ารับการบำบัดในสถานบำบัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดความทรมานจากอาการขาดยาและจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยก่อนหาวิธีบำบัดที่เหมาะสมต่อไป โดยพิจารณาจาก ชนิดของสารเสพติดที่ใช้ ปริมาณที่ใช้เป็นประจำ ระยะเวลาที่เคยเสพยา สารเสพติดอื่นที่ผู้ป่วยใช้ร่วมด้วย เช่น ผงขาว, แอลกอฮอล์, ยานอนหลับ หรือ สารระเหย เป็นต้น ความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจ ขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ปัญหาพื้นฐาน, บุคลิกภาพ, ลักษณะของครอบครัว, สังคม, การศึกษาของผู้ป่วย เพื่อเป็นแนวทางในการให้การรักษาโดยรวมต่อไป วิธีเลิกยาเสพติด จากนั้น การรักษาจะใช้ 3 แนวทาง ดังนี้ 1. Biological Treatment คือการรักษาโดยใช้ยา เนื่องจากผู้ป่วยที่ใช้ยาบ้ามักมีอาการเสพติดทางจิตใจมากกว่าทางร่างกาย การให้ยาจึงเป็นแบบการรักษาประคับประคองตามอาการ (Symptomatic Supportive Treatments) อาการทางจิต ได้แก่ หวาดกลัว ประสาทหลอน หูแว่ว ให้ยากลุ่มต้านโรคจิต (Antipsychotics) และติดตามผลการรักษา อาการวิตกกังวล, กระสับกระส่าย, หงุดหงิด, นอนไม่หลับ ให้ยากลุ่มกล่อมประสาท (Anxiolytics) และติดตามผลการรักษา อาการซึมเศร้า อ่อนเพลีย ให้ยากลุ่มต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressants) และติดตามผลการรักษา อาการมึนงง, วิงเวียนศีรษะ, ความรู้สึกไม่ปลอดโปร่ง ให้ยากลุ่มบำรุงประสาท เช่น วิตามิน B ยากลุ่มบำรุงสมอง เพิ่มการไหลเวียน เลือดในสมอง เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์จะให้ยาบำรุงร่างกาย หรือรักษาโรคทางร่างกายต่าง ๆ ที่พบในขณะรับการรักษา เพราะผู้ที่ใช้ยาเสพติดนาน ๆ เข้า มักจะมีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนด้วย 2. Psychological Treatment ให้การรักษาทางด้านจิตใจ หรือที่เรียกว่า จิตบำบัด (Psychotherapy) จะใช้แบบใดขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่จะใช้แบบ Supportive Psychotherapy คือเน้นให้ผู้ป่วยมีความรับรู้ด้วยตนเองใน 3 ประการ คือ อันตรายจากการใช้ยาบ้า กิจกรรมทดแทน เมื่อเลิกเสพยาบ้า เป้าหมายในอนาคตที่ผู้ป่วยหวังได้ ได้แก่ อาชีพ ฐานะการเงิน สถานะในสังคม การมีครอบครัว ฯลฯ 3. Social Treatment คือ การให้คนใกล้ตัวมีส่วนร่วมด้วย หมายถึง ให้คนในครอบครัว และผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เช่น ที่ทำงาน ที่โรงเรียน เข้าใจอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ด้วย จะได้ดูแลได้อย่างถูกวิธี ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เลิกยาเสพติดได้ผลก็คือ ผู้ป่วยต้อง "ตั้งใจ" และ "เต็มใจ" ที่จะเลิกยาให้ได้ และเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะหาก "ตั้งใจ" ก็จะมีแรงจูงใจให้สามารถเลิกยาได้ แต่หากผู้ป่วยไม่มีแรงจูงใจ หรือกำลังใจที่จะเลิก คนใกล้ชิดก็ต้องหาแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ว่าเป้าหมายของการเลิกยาคืออะไร จะได้เข้าสู่กระบวนการเลิกยาได้ เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว คนใกล้ตัวก็ต้องเอาใจใส่ผู้ป่วยต่อไป ทั้งในเรื่องของอาหารการกินที่ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยบำรุงสุขภาพ และช่วยบำบัดจิตใจ ให้ความรัก ความใกล้ชิด ชักชวนไปทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ หรือหางานอดิเรกให้ทำ จะได้ไม่มีเวลาว่างจนเกินไป และที่สำคัญก็คือ หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจบ้าง ให้จิตใจสงบ สบาย เพื่อเป็นการป้องกันมิให้กลับไปใช้ยาเสพติดอีก วิธีเลิกยาเสพติด สำหรับผู้ติดยาสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนี (สถาบันธัญญารักษ์) โทรศัพท์ สายด่วน 1165 สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านพิชิตใจ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2354-4233 เว็บไซต์ office.bangkok.go.th สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี โทรศัพท์ แผนกรักษายาเสพติด 036-266292 หรือ เฟซบุ๊ก thamkrabokfanpage ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกยาเสพติดทุกแห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น